ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนีมาตลอดระยะเวลา 55 ปี ซึ่งเน้นด้านการพัฒนาทรัพยากรกำลังคน โดยเริ่มต้นจากช่างฝีมือ ช่างเทคนิค ครูช่าง และวิศวกร ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วยการให้ทุนไปศึกษาและฝึกอบรมในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งได้กลับมาสอนอยู่ในคณะต่างๆ นอกจากการส่งคณาจารย์ไปศึกษาต่อแล้ว มหาวิทยาลัยได้รับเครื่องจักรกลและเครื่องคอมพิวเตอร์มาจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมีโครงการจะใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของประเทศ
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องจักรอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องจักร CNC อุปกรณ์นิวแมติกส์และไฮดรอลิกส์ เครื่องมือกล เครื่องมือทดสอบวัสดุ เครื่องมือทดสอบงานเชื่อม เป็นต้น ซึ่งยังกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการใช้เพื่อการเรียนการสอน มิได้นำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมและกำลังคนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรม สาขานำ(Key industries) ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทักษะหรือเทคโนโลยีค่อนข้างสูง และสามารถทำให้เกิดการเชื่อมโยงได้สูงระหว่างอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วิชาการสนับสนุน ซึ่งจะสามารถช่วยในการเพิ่มผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งการสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้น เป็นการลดการนำเข้าของชิ้นส่วนอุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ ที่ทำให้ประเทศขาดดุลการค้าได้
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติโดยรวม มหาวิทยาลัยได้ริเริ่มดำเนินการโครงการให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและจัดตั้ง “สำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม” ขึ้นเป็นหน่วยงานระดับคณะตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 เพื่อสร้างงานวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โดยเชื่อมโยงและร่วมมือกับสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศอุตสาหกรรมมาเผยแพร่ ให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทย
สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้ยุบและปรับโครงสร้างองค์กรของ สพอ.เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 โดยให้มีการแบ่งหน่วยงาน ดังนี้
1. สำนักงานผู้อำนวยการ
2. ฝ่ายฝึกอบรมและส่งเสริมงานวิจัย
3. ฝ่ายบริการตรวจสอบและทดสอบ
4. ฝ่ายสารสนเทศและอุตสาหกรรมสัมพันธ์
5. ฝ่ายบริการอุตสาหกรรม
ตราสัญลักษณ์
![]() |
![]() |
ตราสัญลักษณ์ของหน่วยงาน (ภาษาอังกฤษ) | ตราสัญลักษณ์ของหน่วยงาน (ภาษาไทย) |